top of page

Blog - News - Review - Promotion

แนวข้อสอบทุนรัฐบาลอินเดีย (ICCR SCHOLARSHIP)


สวัสดีค่า วันนี้พี่ตั้มมีแนวข้อสอบทุน ICCR มาฝาก

เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะสอบทุนนี้นะคะ


แนวข้อสอบนี้อ้างอิงจากประสบการณ์สอบของพี่ตั้มเองและรวบรวมมาจากผู้สอบท่านอื่น ๆ ในช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานะคะ แต่ทั้งนี้สำหรับทุนปี 2020-21 นั้น ข้อสอบจะเป็นแบบไหนก็สุดรู้ได้ แต่อย่างน้อยเราได้เตรียมตัวจากแนวทางข้อสอบเก่า ๆ ก่อน ซึ่งพี่ตั้มก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านนะคะ


การสอบจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ

1. รอบการสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษ

2. รอบการสอบสัมภาษณ์


โดยทุกคนจะได้ทำข้อสอบแบบเดียวกัน ไม่แบ่งระดับชั้นที่สมัครเข้าสอบ ไม่ว่าจะเป็น ป.ตรี ป.โท หรือ ป.เอก และไม่แบ่งคณะหรือสาขาวิชาที่สมัครด้วยนะคะ และการสอบข้อเขียน จะสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ เพียงอย่างเดียวจ้า ไม่มีความรู้เฉพาะวิชาหรือเฉพาะด้านของผู้สมัครนะคะ


ข้อสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English Proficiency Test) จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1. Reading Part: จะมีบทความ ไม่สั้นไม่ยาว ให้อ่านแล้วตอบคำถามจากเนื้อเรื่องที่ให้มา เป็นข้อสอบกากบาทนะคะ

2. Grammar and Vocabulary Part: จะเป็นข้อสอบกากบาท เช็คความรู้ทางไวยกรณ์และความรอบรู้ทางคำศัพท์ อาทิเช่น Error Test, Part of Speech, Phrasal Verb, Conjuction, Synonym และ Antonym เป็นต้น

3. Writing Part: ในส่วนนี้ จะเป็นการเขียน Essay จากหัวข้อที่กำหนด โดยมักจะให้ผู้สอบเลือกเขียน 1 หัวข้อจากทั้งหมด 3 หัวข้อที่กำหนดให้ โดยจะเป็นหัวข้อที่ให้ผู้สอบได้แสดงความรู้และความคิดเห็นของตัวเอง ในความยาวที่กำหนดประมาณ 100-150 คำค่ะ

ตัวอย่างของหัวข้อที่กำหนด อาทิเช่น เหตุใดจึงเลือกไปเรียนที่อินเดีย วัฒนธรรมไทยกับอินเดีย การศึกษาของผู้หญิงไทย ความสำคัญของการศึกษา อินเดียที่ฉันรู้จัก เป็นต้น


ทั้งนี้ผู้สมัครควรไปถึงที่สอบก่อนเวลาอย่างน้อย 15-30 นาที นะคะ


จากประสบการณ์ตรงของพี่ตั้มเอง การสอบข้อเขียนไม่ยากนะคะ ถ้าเปรียบเทียบกับการสอบ IELTS ถือว่าง่ายกว่ากันมากพอสมควร ดังนั้นขอให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อคว้าสิทธิ์สอบสัมภาษณ์มาอยู่ในมือให้ได้นะคะ


เมื่อเราสอบข้อเขียนผ่านแล้ว จะมีการแจ้งผลสอบและนัดวันสอบสัมภาษณ์อีกครั้งที่สถานฑูตอินเดียประจำประเทศไทยค่ะ สำหรับการสอบสัมภาษณ์นั้น จะสอบสัมภาษณ์กับกรรมการจากสถานฑูตอินเดียที่เป็นคนอินเดียเลยค่ะ ดังนั้นการสอบสัมภาษณ์ทั้งหมด จะพูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษนะคะ


ในห้องสอบ จะมีกรรมการนั่งสัมภาษณ์เราอยู่ประมาณ 2-3 คน (จะมีพี่คนไทย คอยช่วยแปลอยู่บ้าง ถ้าเราตอบคำถามบางส่วนไม่ได้จริง ๆ นะคะ ดังนั้นไม่ต้องกังวลไปค่ะ) คำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ ส่วนมากจะเป็นคำถามทั่ว ๆ ไป อาทิเช่น

- ทำไมถึงอยากไปอินเดีย

- ทำไมถึงเลือกเรียนหลักสูตรนี้ (ที่เราสมัคร) ที่อินเดีย

- คิดว่าจะอยู่ที่อินเดียได้หรือไม่

- เคยไปอินเดียมาบ้างหรือเปล่า

- รู้จักอะไรเกี่ยวกับอินเดียบ้าง

- เมื่อเรียนจบแล้วมีแพลนจะทำอะไรต่อ

- ถ้าหากไม่ได้ทุนนี้ มีแพลนจะทำอย่างไร


ขอเล่าประสบการณ์ตรงของพี่ตั้มเองหน่อยละกันนะคะ ตอนปีที่พี่ตั้มสอบ (2015-2016) ตัวพี่ตั้มเองเจอคำถามอยู่แค่ 3 คำถาม ใช้เวลาสัมภาษณ์แป๊บเดียวเลยจริง ๆ ค่ะ คำถามที่พี่ตั้มได้ คือ

1. ทำไมถึงเลือกเรียนหลักสูตรที่อินเดีย เพราะปกติแทบไม่เจอคนสมัครทุน ป.เอก ด้านวิศวะ สักเท่าไหร่

ซึ่งพี่ตั้มเองตอบไปว่า เพราะว่าวิศวกรชื่อดังมากมายในโลกนี้เป็นคนอินเดีย จบการศึกษาจากอินเดีย และสาขาวิชาที่พี่ตั้มเลือกเรียน ที่อินเดียเองก็ขึ้นชื่ออยู่ไม่น้อย ผลงานวิจัยที่เผยแพร่ออกมาจากอินเดียก็เยอะมาก

2. คิดว่าจะไปอยู่อินเดียได้ไหม อยู่ไหวหรือเปล่า

ในหัวข้อนี้ พี่ตั้มตอบไปว่า พี่ตั้มเคยไปอยู่เรียนภาษาที่เมืองบังกาลอร์มาแล้ว เลยมั่นใจว่าตัวเองจะอยู่ที่อินเดียได้แน่นอน แล้วหลังจากนี้กรรมการก็ถามต่อว่าไปอยู่มานานไหม ชอบหรือเปล่า บลาๆๆๆ เหมือนเป็นการพูดคุยทั่วไปกันแล้วค่ะ

3. เรียนจบแล้วแพลนจะทำอะไรต่อ

คำถามนี้เป็นคำถามสุดท้าย ก่อนที่กรรมการจะปล่อยตัวพี่ออกมาจากห้องสอบ หลังจากที่พูดคุยกันเรื่องเมืองบังกาลอร์และการเรียนภาษามาอย่างสนุกสนาน พี่ตั้มก็ตอบไปว่า ก็ไม่มีแผนที่แน่นอน แต่คาดว่าจะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (เพราะตอนนั้นพี่ตั้มยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ค่ะ ยังไม่ได้ทุนไปเรียน ก็ยังไม่กล้าลาออกอ่ะเน๊อะ 555)


ซึ่งการสัมภาษณ์เหมือนเป็นการพูดคุย ถามเรื่องนานาสาระ แบบเป็นกันเองมากกว่าค่ะ ยิ้มแย้ม เฮฮา คุยกันสนุกสนาน สบาย ๆ ดังนั้นในความคิดเห็นของพี่ตั้มเอง กรรมการเพียงแค่ต้องการรู้ว่า เราจะสามารถไปอยู่ ไปเรียน ไปใช้ชีวิต ที่อินเดียได้จริง ๆ หรือไหม มีโอกาสจะสละสิทธิ์ทุนหรือทิ้งทุนหรือเปล่า แค่นั้นเองค่ะ


สุดท้าย ท้ายสุดที่พี่ตั้มอยากบอกกับผู้สมัครทุก ๆ คนนะคะ


การสอบผ่านข้อเขียนและสัมภาษณ์ ของทุน ICCR มิได้หมายความว่าเราจะได้ทุนไปเรียนในทันทีนะคะ

แต่มันหมายถึงการที่เราเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นสมัครมหาวิทยาลัย (ที่เราเลือกไว้ตั้งแต่ตอนสมัคร) โดยทางสถานฑูตฯ จะเป็นผู้จัดการยื่นใบสมัครต่าง ๆ ให้กับเราค่ะ


ทั้งนี้เมื่อมหาวิทยาลัยตอบรับการเข้าเรียนกลับมา ทางสถานฑูตฯ จะออกจดหมายตอบรับให้กับเรา ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเรียนทุน ICCR จ้า


ขอให้ทุกคนโชคดี และมาเป็นนักเรียนทุน ICCR ด้วยกันนะคะ



ปีนี้ใครที่พร้อมแล้วลุยโลด ... ส่วนใครที่สนใจแต่ภาษาอังกฤษยังไม่เป๊ะ

มาเรียนภาษาอังกฤษที่อินเดียกับ WES เพื่อเตรียมความพร้อมไว้รอลุยปีหน้าจ้า

จะได้เช็คตัวเองด้วยว่าตัวเราโอเคกับความเป็นอินเดียไหม

แอบกระซิบ เด็ก WES ได้ทุนนี้มาหลายคนแล้วจ้ะพี่จ๋า


#แนวข้อสอบ #ทุนรัฐบาลอินเดีย #ทุนICCR #ICCR #เรียนอินเดีย #เรียนต่ออินเดีย #westhailand








ดู 1,777 ครั้ง
Recent Posts
อ่านทั้งหมด
bottom of page