top of page

Blog - News - Review - Promotion

ระบบการศึกษาในอินเดีย (ตอนที่ 1 : ช่วงชั้นการศึกษาในอินเดีย)


รวม1.jpg

โดย .. พี่ตั้ม หนึ่งในทีมผู้บริหาร WES และพ่วงตำแหน่ง

อาจารย์วิศวะฯ มหา'ลัยรัฐ แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา (1-2 พ.ย. 2557) พี่ตั้มและทีมงานของ WES ได้มีโอกาสไปออกบูทในงานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งจัดโดย สำนักงาน ก.พ. ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ในงานนี้มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากทุกทวีปทั่วโลก มาร่วมให้ข้อมูลศึกษาต่อ ซึ่ง WES เป็นตัวแทนของ 2 มหาวิทยาลัยชื่อดังจากเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ได้แก่ Jain University และ CMR University รวมถึงโรงเรียนประจำอย่าง Jain International Residential School (Bangalore) เข้าร่วมให้ข้อมูลและเปิดรับสมัครนักเรียนและนักศึกษาสำหรับปีการศึกษา 2558 รวมถึงเป็นตัวแทนเดียวจากประเทศอินเดียที่เข้าร่วมอีกด้วยนะจ๊ะ ซึ่งในงานนี้ มีผู้ปกครองหลายท่านเข้ามาพูดคุยปรึกษากับทาง WES ว่าสนใจจะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศอินเดีย วันนี้พี่ตั้ม เลยจะเอาข้อมูลระบบการศึกษาในประเทศอินเดีย มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ระบบการศึกษาในอินเดียนั้น การเปิดปิดภาคเรียนของแต่ละโรงเรียนจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากขนาดพื้นที่ของอินเดียที่มีความใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกนั้น ทำให้แต่ละภูมิภาคมีสภาพอากาศและความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันค่ะ ถ้าพื้นที่ทางเขตตอนเหนือ จะมีช่วงปิดภาคการศึกษาค่อนข้างนานในฤดูหนาว แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทางเขตตอนใต้ ก็จะปิดภาคการศึกษานานในช่วงฤดูร้อนหรือซัมเมอร์เหมือนบ้านเราค่ะ ทั้งนี้ในช่วงระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั้น ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เช่น เมืองบังกาลอร์ โรงเรียนส่วนใหญ่จะเปิดการศึกษาตั้งแต่ประมาณปลายเดือนมิถุนายน ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป โดยจะมีช่วงของการเปิดเรียนและเทศกาลวันหยุด ดังนี้จ้า

  • ภาคการศึกษาที่ 1 ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนธันวาคม ช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสค่ะ โดยระหว่างภาคการศึกษาที่ 1 จะมีวันหยุดเทศกาล Diwali ประมาณ 2 สัปดาห์ในช่วงเดือนตุลาคมหรือเดือนพฤศจิกายน (แล้วแต่ปี)

  • ปิดภาคฤดูหนาว ประมาณ 2 อาทิตย์ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

  • ภาคการศึกษาที่ 2 จะเริ่มต้นหลังจากเทศกาลปีใหม่ ประมาณต้นเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคม

  • ปิดภาคฤดูร้อน ตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม จนถึงอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน (ประมาณ 6 สัปดาห์)

ระบบการศึกษาในอินเดียจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ระดับหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้

  • ระดับอนุบาล (Kindergarten) เป็นการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของด็กที่จะเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา ตั้งแต่อายุ 3-5 ปี

  • ระดับประถมศึกษา (Primary Education) ตั้งแต่เกรด 1 ถึงเกรด 5 (ป.1 – ป.5) เป็นการศึกษาของนักเรียนอายุระหว่าง 6 – 11 ปี ถือเป็นการศึกษาภาคบังคับจากรัฐบาลอินเดีย ที่เด็กทุกคนจะต้องได้โอกาสในการเรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ

  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Secondary Education) ตั้งแต่เกรด 6 ถึงเกรด 10 (ป.6 – ม.4) เป็นการศึกษาของนักเรียนอายุระหว่าง 11 – 15 ปี ซึ่งนักเรียนจะได้เริ่มเรียนในรายวิชาเฉพาะทาง เช่น วิชาด้านฟิสิกส์ เคมี และ ชีววิทยา รวมถึงวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์เบื้องต้น โดยเมื่อสอบผ่าน นักเรียนจะได้รับใบรับรองระดับ Secondary School Leaving Certificate (SSLC)

  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

- มัธยมศึกษาตอนปลาย (Higher Secondary Education) ตั้งแต่เกรด 11 ถึง เกรด 12 (ม.5 – ม.6) เป็นการศึกษาของนักเรียนอายุระหว่าง 16 – 17 ปี ซึ่งนักเรียนจะต้องเลือกแผนการเรียนของตนเองจากสายวิทยาศาสตร์ หรือ สายศิลป์ ทั้งนี้เมื่อสอบผ่าน นักเรียนจะได้รับใบรับรองระดับ Higher Secondary School Certificate เมื่อนักเรียนจบเกรด 12 แล้ว หากประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจะต้องสอบผ่าน Public Exam ซึ่งดำเนินการโดย Board Education ของแต่ละรัฐ แต่สำหรับน้อง ๆ นักเรียนไทยที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเทียบเท่าได้กับเกรด 12 ทางมหาวิทยาลัยจะรับเข้าศึกษาโดยพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรที่แสดงอยู่ในใบทรานสคริป โดยไม่ต้องสอบ Public Exam

- เตรียมอุดมศึกษา (Pre University Education: PUC) เทียบเท่าเกรด 11 ถึงเกรด 12 โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาศึกษาตอนต้นและสอบผ่านได้รับใบรับรอง SSLC จะสามารถเลือกเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษาได้ โดยในระดับการศึกษานี้จะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 2 ปี ซึ่งนักเรียนจะต้องเลือกแผนการเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แผนการเรียนได้แก่

แผนศิลป์ (Art) ประกอบไปด้วย ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์

แผนพาณิชย์ (Commerce) ประกอบไปด้วย บัญชี เศรษฐศาสตร์ และคณิตศาสตร์ธุรกิจ

แผนวิทยาศาสตร์ (Science) ประกอบไปด้วย ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์

ทั้งนี้แผนการเรียนที่นักเรียนจะเลือกเรียน จะขึ้นอยู่กับสายวิชาที่นักเรียนต้องการจะศึกษาต่อ

ในระดับอุดมศึกษาต่อไป

- อาชีวศึกษา (Vocational Education) การศึกษาในระดับนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและสอบผ่านได้รับใบรับรอง SSLC นักเรียนสามารถเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อได้ในสถาบันฝึกอบรมอุตสาหกรรม (Industrial Training Institute) ซึ่งจะเป็นการศึกษาสำหรับความถนัดทางช่างฝีมือหรือวิชาชีพเฉพาะทาง มีทั้งหลักสูตรระยะสั้น 6-12 เดือน หรือหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างเครื่องยนต์ การบัญชี และเลขานุการ เป็นต้น ทั้งนี้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญาทางวิศวกรรม สามารถเข้าศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาได้ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาโดยส่วนใหญ่ จะใช้ภาษาท้องถิ่นในการเรียนการสอน จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับนักเรียนไทย

  • ระดับอุดมศึกษา (Higher Education) เป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เกรด 12 หรือเทียบเท่า

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาของประเทศอินเดีย หากผู้ปกครองหรือน้องท่านใด มีความสงสัยหรือต้องการข้อมูลของโรงเรียนต่าง ๆ เพิ่มเติม พี่ตั้มและทีมงาน WES ยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือค่ะ แล้วพบกันใหม่กับระบบการศึกษาแบบอินเดียและแบบอินเตอร์ในตอนต่อไป สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • หนังสือ สาระน่ารู้เกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างประเทศ โดย สำนักงาน ก.พ.

  • Jain International Residential School Bangalore, India

  • CMR National Pre University College Bangalore, India

  • วิกิพีเดีย

ดู 1,698 ครั้ง
Recent Posts
อ่านทั้งหมด
bottom of page