top of page

Blog - News - Review - Promotion

การศึกษาในอินเดีย ตอนที่ 1



ี่ี่

สวัสดีค่ะ ห่างหายกันไปนานกับสาระความรู้ เกี่ยวกับการศึกษาในอินเดียนะคะ พอดีพี่ตั้มเร่งทำ Thesis เลยไม่ค่อยมีเวลาว่างมาอัพเดทข้อมูลกันเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หายไปไหนนะคะ ยังคงอยู่ที่บังกาลอร์ อินเดีย เหมือนเดิมจ้า ...

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าเน๊าะ สำหรับสาระความรู้วันนี้ พี่ตั้มขอนำเสนอ ระบบการศึกษาในอินเดีย ชั้นประถม - มัธยมจ้า

ระบบการศึกษาในอินเดียส่วนใหญ่ จะแบ่งช่วงชั้นออกเป็น 3 ช่วงชั้น ด้วยระบบ 10+2+3 นั่นคือ

1.) ช่วงชั้นแรก 10 ปี (เกรด 1-10) เป็นช่วงชั้นการเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป

2.) ช่วงชั้นที่สอง 2ปี (เกรด 11-12) เป็นช่วงชั้นการเรียนวิชาเฉพาะทางเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าระดับมหาวิทยาลัย

3.) ช่วงชั้นที่สาม 3-4ปี เป็นช่วงชั้นการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) โดยคณะทั่วไป (degree college) จะใช้เวลาเรียน 3 ปี และคณะเฉพาะทางเช่น วิศวฯ หรือสายแพทย์ จะใช้เวลา 4-6 ปี

ในวันนี้ พี่ตั้มจะมาแนะนำหลักสูตรการศึกษาในอินเดีย ในช่วงชั้นที่ 1 และ 2 (มัธยมศึกษา) ที่น้อง ๆ คนไทย นิยมมาเข้าเรียนในอินเดีย โดยแบ่งเป็น 5 หลักสูตรหลัก ๆ ดังนี้จ้า

1. หลักสูตร CBSE (Central Board of Secondary Education) เป็นหลักสูตรกลางของอินเดีย จัดการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษหรือภาษาฮินดี (ขึ้นอยู่กับโรงเรียน) น้อง ๆ ที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะมีการสอบเลื่อนระดับชั้นหรือที่เรียกกันว่าสอบบอร์ด อยู่ 2 ครั้ง คือ สอบบอร์ดเกรด 10 และสอบบอร์ดเกรด 12

2. หลักสูตร CISCE (Council for the Indian School Certificate Examinations) กล่าวกันง่าย ๆ คือเป็นหลักสูตรอินเตอร์ของอินเดีย ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของนักเรียนที่ต้องการเรียนเน้นวิชาการในรูปแบบของภาษาอังกฤษที่เข้มข้นมากขึ้น ส่วนใหญ่เราจะเรียกหลักสูตรนี้กันว่า ICSE ตามชื่อสอบบอร์ดของเกรด 10 และ ISC คือการสอบบอร์ดของเกรด 12

3. หลักสูตร CIE (Cambridge International Education) หลักสูตรจากแคมบิดจ์ ของประเทศอังกฤษ ที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนนานาชาติทั่วโลก คนส่วนใหญ่นิยมเรียกกันว่า หลักสูตร IGCSE (International General Certificate of Secondary Education) ซึ่งผู้ปกครองมักนิยมให้บุตรหลานมาศึกษาต่อกันในหลักสูตรนี้ สำหรับหลักสูตร IGCSE จะเริ่มเข้าสู่หลักสูตรจริงจังในเกรด 8 โดยนักเรียนจะต้องลงเรียนทุกรายวิชา (8 วิชา) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกสายการเรียนในเกรด 9-10 ซึ่งในเกรด 9-10 นี้ นักเรียนจะต้องลงเรียนและสอบให้ผ่านอย่างน้อย 5 วิชา สำหรับการสอบบอร์ดในช่วงชั้นนี้ ที่อินเดียยังคงนิยมใช้ชื่อเก่าที่เรียกกันว่าสอบ O-level (Ordinary Level) สุดท้ายในช่วงชั้นเกรด 11-12 นักเรียนจะต้องลงเรียนและสอบบอร์ดให้ผ่านอย่างน้อย 3 ตัว ในระดับชั้นนี้ จะเรียกชื่อการสอบบอร์ดว่า A-level (Advance Level) ทั้งนี้ในหลาย ๆ โรงเรียนจะเรียกชื่อเกรด 11 ว่า As level และเกรด 12 ว่า A level

4. หลักสูตร IB (International Baccalaureate) เป็นหลักสูตรนานาชาติที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน หลักสูตรนี้จะแบ่งช่วงชั้นการสอบหลัก ๆ ที่เกรด 10 และ 12 เช่นกัน เพียงแต่รูปแบบการเรียนการสอน เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบการเรียนและเน้นการสอบโดยทั่วไปเป็นการเน้นการทำโปรเจค โครงงาน และนำเสนอผลงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งในอินเดียทำการสอนในหลักสูตร IB มากขึ้น

5. หลักสูตร state board เนื่องด้วยอินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ดังนั้นในแต่ละรัฐจะมีหลักสูตรการศึกษาของตัวเอง โดยจะแบ่งหลัก ๆ เป็นช่วงชั้นเกรด 10 และ หลักสูตรเตรียมมหาวิทยาลัย (Pre-University College: PUC) ที่เทียบเท่ากับการเรียนในเกรด 11-12 สำหรับใครที่สนใจเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในอินเดียในเมืองนั้น ๆ หลักสูตร PUC จะเน้นการสอนเพื่อเตรียมพร้อมให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดีค่ะ

จบกันไปแล้วกับหลักสูตรหลัก ๆ ที่นักเรียนไทยนิยมเลือกเข้าศึกษาที่อินเดียนะคะ ในตอนต่อไปพี่ตั้มจะมาแนะนำระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยที่อินเดีย แล้วพบกันใหม่จ้า

ดู 790 ครั้ง
Recent Posts
อ่านทั้งหมด
bottom of page